รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
เส้นทางสายใหม่...เปิดประตูการค้าชายแดนภาคเหนือเชื่อมลาว - จีนใต้
โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ หนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ และแผนการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้มีการใช้ระบบขนส่งระบบราง เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว
 
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ มูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571 ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการสร้างสถิติใหม่ โดยจะมีอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย

 

แนวเส้นทางโครงการ

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ สิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 323.1 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ 

เส้นทางโครงการอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดทางภาคเหนือ

·  จังหวัดแพร่ ระยะทาง 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย  สูงเม่น แพร่  แม่คำมี หนองเสี้ยว และสอง 

·  จังหวัดลำปาง ระยะทาง 52.40 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ แม่ตีบ งาว และปงเตา 

·  จังหวัดพะเยา ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา บ้านโทก หวาก พะเยา  ดงเจน บ้านร้อง และบ้านใหม่ 

·  จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร มี 11 สถานี คือ ป่าแดด ป่าแงะ บ้านโป่งเกลือ สันป่าเหียง  เชียงราย  ทุ่งก่อ  เวียงเชียงรุ้ง  ชุมทางบ้านป่าซาง  บ้านเกี๋ยง  ศรีดอนชัย และเชียงของ

ขอบเขตของโครงการ
โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาจ้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย งานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ดังนี้
ประโยชน์ของโครงการ

1.  ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม. - 1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ที่เส้นทางตัดผ่าน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน 

2. เปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้าจากไทย และสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศ

3. เป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามของธรรมชาติตลอดทาง โดยรถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ สามารถสร้างความประทับใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ 
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้