29 มกราคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 (สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ) ประชุมชี้แจงผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนในพื้นที่อำเภอเชียงของ ร่วมกับ ดร.พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 2 พร้อมด้วยประชาชนกว่า 150 คน จากอำเภอเชียงของและพื้นที่อื่นๆ โดยเรียกร้องให้มีการปรับราคาใหม่สะท้อนความจริงของราคาปัจจุบัน ในที่ประชุมมีมติให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนจะเป็นทีมสนับสนุน และให้คำปรึกษาในการเขียนอุทธรณ์ ใช้ตัวอย่างจากการอุทธรณ์ที่สำเร็จแล้ว ซึ่งที่ประชุมพอใจในหลักการ ในส่วนปัญหาเฉพาะราย ให้ที่ปรึกษาประสานช่วยเหลือ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นเฉพาะรายต่อไป ณ ห้องประชุมเชียงของดาวเจ็ดแฉก อาคารศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่ว่าการอำเภอเชียงของ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
25-26 มกราคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 (สัญญาที่ 2 ช่วงงาว- เชียงราย) ทำความตกลงเพื่อทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกับการรถไฟฯ กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ กม. 718+700  ในท้องที่ตำบลสันมะค่า ตำบลป่าแดด ตำบลป่าแงะ อำเภอป่าแดด และ ตำบลเชียงเคี่ยน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย จำนวน 172 แปลง ณ สำนักงานก่อสร้างโครงการฯ ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย
23 มกราคม 2567 พล.ต. กิตติภัค ทองธีรธรรม ผู้อำนวยการสำนักวิทยาการความมั่นคง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ นำนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 66 กว่า 70 คน ศึกษาดูงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยนายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 3)  นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว) ในการนี้ นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) บรรยายสรุปความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการฯ  ณ ห้องนครา พาวิลเลียน โรงแรมแพร่นครา จังหวัดแพร่ หลังจากนั้น ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างบริเวณอุโมงค์แพร่ 2 (แม่ตีบ) หรือ อุโมงค์งาว จังหวัดลำปาง ซึ่งปัจจุบัน มีความก้าวหน้าการก่อสร้าง ร้อยละ 0.725 เร็วกว่าแผน ร้อยละ 0.464
 17-18 มกราคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 (สัญญาที่ 2 ช่วงงาว- เชียงราย) ทำความตกลงเพื่อทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกับการรถไฟฯ กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ กม.683+400 อำเภอเมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา จำนวน 140 ราย 178 แปลง  ณ สำนักงานก่อสร้างโครงการฯ ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
15 มกราคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 ร่วมงานปอยหลวงฉลองศาลาการเปรียญของวัดไชยนารายณ์ ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย โดยได้ร่วมสนับสนุนน้ำดื่ม และจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ให้เตรียมพร้อมต้อนรับรถไฟทางคู่สายใหม่นี้ต่อไป
12-13 มกราคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย สนับสนุนกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567 ผ่านกิจกรรม “ปู๊น...ปู๊น หมู่เฮา” ด้วยการมอบทุนการศึกษา จัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์โครงการฯ เล่นเกม แจกของรางวัล ขนม และไอศกรีม ให้เด็กนักเรียนในหลายโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งมอบให้แก่หน่วยงานราชการ เพื่อส่งมอบให้กับเด็กๆ ในชุมชนต่อไป  
- สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว มอบทุนการศึกษา เล่นเกมแจกรางวัล แจกขนม และไอศกรีม ณ สำนักงานเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่  เทศบาลตำบลเด่นชัย เทศบาลตำบลปงป่าหวาย เทศบาลตำบลทุ่งกวาว องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งน้าว จังหวัดแพร่ และอำเภองาว จังหวัดลำปาง
- สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย จัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนอนุบาลเวียงชัย และร่วมสนับสนุน อุปกรณ์การเรียน น้ำดื่ม ไอศกรีม ขนม และมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเวียงชัย จังหวัดเชียงราย และโรงเรียนบ้านแม่กา ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
- สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ร่วมพิธีทำบุญวันครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลดอยหลวง และมอบทุนการศึกษา ชื่อทุน “เรียนดีประพฤติดี มีจิตอาสา” ให้แก่นักเรียนในอำเภอดอยหลวง รวมทั้ง มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนโรงเรียนอนุบาลโชคชัย ตำบลโชคชัย และโรงเรียนบ้านดอนงาม ตำบลบ้านแซว อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย
11 มกราคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ได้นำผู้แทนของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เข้าตรวจสอบบริเวณวัดพระพุทธมงคล (พระเจ้าตนหลวง) ว่าวัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้วหรือไม่ เนื่องด้วยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบุว่าวัดพระพุทธมงคลเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่อยู่ใกล้กับแนวเขตรถไฟ มีระยะห่างประมาณ 50 เมตร จากการตรวจสอบ ทางสำนักศิลปากรฯ ยืนยันว่าวัดไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ในส่วนของการดำเนินงานก่อสร้างทางกรมศิลปากรไม่ขัดข้อง แต่ขอให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนด EIA หลังจากนี้ ทางโครงการฯ เตรียมเข้าดำเนินงานก่อสร้างสะพานรถไฟ STA553+293 บริเวณวัดพระพุทธมงคล ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ต่อไป
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้