1 มิถุนายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ มอบเงินสนันสนุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกับไฟป่าให้กับ ทีมงานป้องกันไฟป่า หมู่ 5 ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านในพื้นที่ป่า คทช. ที่ผ่านแนวเขตก่อสร้างทางรถไฟพื้นที่แม่ตีบ
28 พฤษภาคม 2567 ก้าวสำคัญอีกขั้น...ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 (สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย) ร่วมทำพิธีบวงสรวงขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยได้มีการประกอบชิ้นส่วนคานคอนกรีตหล่อสำเร็จรูปตัวไอ (I–Girder) สำหรับงานก่อสร้างสะพานรถไฟ (Railway Bridge) และ สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass Bridge) ความยาว 30 เมตร ครั้งแรก ที่สะพานรถไฟหมายเลข 152 (RB 152) จำนวน 8 คาน บริเวณ กม. 673+200 ถึง 676+000 ท้องที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
28 พฤษภาคม 2567
นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในกิจกรรมสร้างการรับรู้การจ้างงานอย่างมีคุณภาพ และกิจกรรมรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานประกอบกิจการ ณ สำนักงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ อ.เด่นชัย จ.แพร่ โดยนายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC กิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ให้การต้อนรับ
ภายในงานมีการบรรยาย หัวข้อ “โรงงานสีขาวและการจัดทำมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.)” โดย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5  หัวข้อ“ความปลอดภัยในการทำงานตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554” และ “การจ้างแรงงานอย่างมีคุณภาพตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541” จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดแพร่ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไปประยุกต์ใช้ในการทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการจ้างงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยได้กำชับให้ผู้รับจ้างก่อสร้างปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจสอบการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทางผู้รับจ้างฯ ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การประชุมความปลอดภัยประจำสัปดาห์ การสนทนาความปลอดภัย การตรวจสอบความปลอดภัย การอบรมหลักสูตรความปลอดภัย การตรวจหาสารเสพติดและตรวจวัดแอลกอฮอล์รายบุคคล ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น มีความปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด นับเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้างในคราวเดียวกัน

24 พฤษภาคม 2567 

การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ) โดยช่วงเช้าลงพื้นที่ชี้แจงรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass Bridge) ซึ่งก่อสร้างที่ กม. 595+075 และ กม. 596+050 จำนวน 2 แห่ง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เทศบาลตำบลห้วยหม้าย กำนันผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการสภา ณ สำนักงาน เทศบาลตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และช่วงบ่ายลงพื้นที่ชี้แจงรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass Bridge) ซึ่งก่อสร้างที่กม. 600+150 จำนวน 1 แห่ง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการสภา ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มติที่ประชุมของทั้ง 2 พื้นที่ เห็นชอบให้ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดใต้ทางรถไฟ (Box Underpass) แทนการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass Bridge) ทั้งนี้ รายละเอียดและรูปแบบการก่อสร้างสะพานฯ ทั้ง 3 แห่ง การรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้รับจ้างรับไปดำเนินการ

เทศบาลตำบลห้วยหม้าย
เทศบาลตำบลห้วยหม้าย
เทศบาลตำบลห้วยหม้าย
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน
17 พฤษภาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว) ลงพื้นที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟ บริเวณจุดที่ 5 พื้นที่ตำบลร่องกาศ พร้อมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน ณ ศาลาภายในฌาปนสถานบ้านตอนิมิตร ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งมติที่ประชุม
- เห็นด้วยกับความสูงของทางลอดที่สามารถก่อสร้างได้สูงสุด 4.2 เมตร
- กรณีการสร้างถนนทางเข้าพื้นที่หลังจากเวนคืนฯ แล้ว หากโครงการฯ ไม่สามารถก่อสร้างถนนให้ได้ ขอให้แจ้งไปที่ อบต.ร่องกาศ เพื่อจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ
- ในส่วนของเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ เช่น การก่อสร้างคันดินขวางทางน้ำ ถนนชำรุด และฝุ่นละออง ทางโครงการฯ รับว่าจะลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป 
16 พฤษภาคม 2567 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว) ให้การต้อนรับคณะนักเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่นที่ 63 โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ จำนวน 30 คน เข้าฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพตามหลักสูตร โดยรับฟังบรรยาย ณ ห้องประชุมสำนักงานโครงการฯ พร้อมชมพื้นที่ก่อสร้างบริเวณอุโมงค์แม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง และสะพานรถไฟโค้ง (Arch Bridge) ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่
11 พฤษภาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 (สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย) ให้การต้อนรับนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนโบราณห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อหารือเรื่องการลดผลกระทบต่อโบราณสถานจากการก่อสร้างทางรถไฟในบริเวณดังกล่าว  
8 พฤษภาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 (สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ) ประชุมหารือเรื่องการเวนคืนป่าชุมชนบ้านเนินสมบูรณ์ ร่วมกับกำนันตำบลห้วยซ้อ ประธานป่าชุมชนบ้านเนินสมบูรณ์ พร้อมด้วยชาวบ้านเนินสมบูรณ์หมู่ 8  มติที่ประชุม ขอให้การรถไฟฯ จ่ายค่าชดเชยต้นไม้ในป่าชุมชน จำนวน 1,348 ต้น จ่ายค่าพิธีล้างป่าช้าตามความเชื่อของคนในชุมชน และไม่ล้อมรั้วบริเวณ กม.823+725 ถึง กม. 824+295 เพื่อให้ประชาชนผ่านเข้า-ออกพื้นที่ได้สะดวก ณ ศาลาประชาคมวัดเนินสมบูรณ์ หมู่ 8 ตำบลห้วยห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
5 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” วัตถุประสงค์เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้งลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต งานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5–7 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ในการนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมออกบูธนิทรรศการประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สนับสนุนทุนทรัพย์และน้ำดื่ม ณ บ้านสิงหไคล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้