29 กันยายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ดีซี 3 จัดทีมงานพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือ ฟื้นฟูพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลังประสบอุทกภัย “ช่วยล้านนา...ด้วยล้านใจ”
24 กันยายน 2567 
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ร่วมประชุมการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ (นสล.) ในเขตพื้นที่ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ร่วมกับปลัดอำเภองาว สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบและกองช่าง ตลอดจนผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง

วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ เนื่องจาก การดำเนินการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ ในเขตพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง จำนวน 1 แปลง (ท 2596.8) โดยโครงการฯ จะต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนนี้ให้แก่ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะต้องทำการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ยินยอม ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การดำเนินการโครงการก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และการพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้เวลาตามกระบวนการขออนุญาตฯ ประมาณ 1 เดือนครึ่ง จึงจะสามารถให้ทางการรถไฟเข้าดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ นสล. ได้
23 กันยายน 2567  การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ดีซี 2 สนับสนุนเครื่องจักรและทีมงานในการเข้าช่วยเหลือหมวดทางหลวงงาว หมวดทางหลวงงาว - แขวงทางหลวงลำปางที่ 2 กรมทางหลวง ในกรณีเกิดเหตุภูเขาพังทลายปิดถนนพหลโยธิน ช่วง กม.809+650 พะเยา-งาว-ลำปาง
ขอบพระคุณ บมจ. ปูนซีเมนต์เอเซีย ที่สนับสนุนรถตักดิน
18 กันยายน 2567
"รองผู้ว่าการรถไฟฯ" ตามติดน้ำท่วม ม.พะเยา ยันโครงการก่อสร้างทางรถไฟของโครงการทางคู่ ไม่มีเอี่ยวเหตุน้ำท่วม พร้อมสั่งจนท.เข้าลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือ-ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด-ติดตามสถานการณ์ทุกระยะ
เผยเหตุน้ำท่วม ม.พะเยา เกิดจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง ส่งผลให้มีมวลน้ำปริมาณมากไหลบ่าท่วมพื้นที่ดังกล่าวอย่างเฉียบพลัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีงานก่อสร้างทางรถไฟของโครงการทางคู่ เป็นงานดินตัดบริเวณเชิงเขาอยู่เหนือระดับคลองแม่กา ไม่ใช่เป็นการขุดร่องเขาเพื่อใช้เป็นเส้นทางระบายน้ำ ปัจจุบันสั่งการเจ้าหน้าที่เข้าลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือ พร้อมดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่กำชับไม่ให้งานก่อสร้างสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟฯ รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพและข้อความประเด็นเกี่ยวกับ สาเหตุน้ำท่วมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา อาจมีสาเหตุร่วมจาก การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา เพราะมีงานเปิดหน้าดินและถมดินคลองแม่กา ซึ่งเป็นคลองที่จะไหลผ่านหน้ามหาลัยพะเยานั้น ขณะนี้ตนได้ติดตามอย่างใกล้ชิด พบข้อเท็จจริงว่า มวลน้ำที่ไหลบ่าท่วมพื้นที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องโดยมีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 105 มิลลิเมตร ในที่แคบบนภูเขาและลาดชันสูง มีความเร็วกระแสน้ำสูง ไหลผ่านตามคลองแม่กาลงสู่พื้นราบ โดยตามแนวคลองมีถนนพหลโยธินขนานด้านซ้าย และมีแนวทางรถไฟขนานด้านขวา เมื่อปริมาณน้ำหลากที่มาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักมากและไหลเร็วเชี่ยว ไหลผ่านตามคลองมาถึงบริเวณใกล้เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ และมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน

ทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างถนนลำเลียงถมคลองแม่ตามข่าว เพราะถนนลำเลียงไม่ได้ออกแบบเป็นฝายกั้นน้ำ มีการวางท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร จำนวน8ท่อ ซึ่งเพียงพอต่อการระบายน้ำในสภาวะปกติ โดยก่อนวันเกิดเหตุก็ไม่มีน้ำขังด้านเหนือน้ำในลักษณะอ่างหรือฝ่ายเก็บน้ำแต่อย่างใค แต่เนื่องจากมวลน้ำมีปริมาณมาก ไหลเชี่ยวแรง ทำให้ถนนลำเลียงถูกกัดเซาะจนขาดอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้บริเวณพื้นที่น้ำท่วมระบายน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน ซึ่งหากมองจากภาพถ่ายมุมสูง ตามภาพแนวเส้นสีเขียวเป็นแนวทางรถไฟที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นทางตัดไม่ใช่เป็นการถมดินคันทาง และไม่ได้เป็นเส้นทางระบายน้ำหรือขวางทางน้ำแต่อย่างใด แนวเส้นสีฟ้าเป็นคลองแม่กา พื้นที่สีแดงเป็นบริเวณหอพักที่คลองแม่กาไหลผ่าน เมื่อมีปริมาณน้ำหลากไหลล้นคลองประกอบมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวกจึงเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้ให้บริษัทผู้รับจ้าง เร่งเข้าดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่โครงการ โดยได้นำถุงยังชีพไปมอบให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม รวมถึงนำเครื่องจักรไปช่วยขุดลอกคูคลอง และลอกท่อระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำขัง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าการรถไฟฯ ในพื้นที่ต่าง ๆ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด และให้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างเต็มกำลัง

CR: เพจเฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
18 กันยายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ดีซี 3 ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน และน้ำดื่ม ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
18 กันยายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ดีซี2 มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
13 กันยายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ดีซี3 มอบข้าวกล่อง 300 กล่อง เป็นกำลังใจให้กับทีมงานช่วยเหลือน้ำท่วม และมอบสิ่งของจำเป็น ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ มาม่า ปลากระป๋อง น้ำดื่ม ให้กับพระอาจารย์พบโชค วัดห้วยปลากั้ง จังหวัดเชียงราย เพื่อมอบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนต่อไป
13 กันยายน 2567 โครงการเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระดมความช่วยเหลือทั้งทีมงาน และรถบรรทุกน้ำ เข้าทำความสะอาดบริเวณพื้นที่น้ำลด ณ สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.เชียงราย และ โรงเรียนมารีรักษ์ จ. เชียงราย
12 กันยายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ดีซี3 ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน และน้ำดื่ม ณ สถานีตำรวจอำเภอเมืองเชียงราย นอกจากนี้ ยังได้นำถุงทรายไปมอบให้แก่ประชาชนอีกด้วย
10-11 กันยายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกับประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงชัย และอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จำนวน 60 ราย ณ หอประชุมเทศบาลตำบลบ้านเหล่า อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย

9 กันยายน 2567 

“SKEW  +/- 15 องศา” ความท้าทายในงานวิศวกรรมก่อสร้างสะพาน

ในขั้นตอนการหล่อชิ้นงานก่อนนำมาประกอบเป็นสะพาน ต้องออกแบบแบบหล่อชิ้นงานให้เอียงทำมุม 15 องศา หรือทำมุมให้ได้ตามแบบ ซึ่งเป็นเทคนิคการหล่อที่พิเศษกว่าสะพานปกติ หากมองจากด้านบน โครงสร้างจะเอียงทำมุม 15 องศา คล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เพื่อเอียงรับตามแนวโค้งของเส้นทางรถไฟ จุดนี้เป็นงาน SKEW +15 องศาจุดแรกของสะพานรถไฟ อยู่บริเวณ STA 536+838 ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ที่สามารถทำตามแบบได้สำเร็จสวยงาม เป๊ะทุกองศา

6 กันยายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว)  ลงพื้นที่ชี้แจงรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass Bridge) กม. 583+710 ต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมืองและคณะ พร้อมประชาชนในพื้นที่ ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง อำเภอสอง จังหวัดแพร่
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้