28 กรกฎาคม 2566 กรมการปกครองและคณะผู้นำหมู่บ้านวังดิน จัดทำ “โครงการป่าชุมชน จิตอาสา รวมใจปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการปลูกป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ป่าชุมชน เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ในการนี้ นายธาตรี บุญมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายศุภชัย บุญทิพย์ นายอำเภอสอง การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC กิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำจิตอาสา เยาวชนและประชาชน ร่วมปลูกต้นไม้เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณป่าชุมชนบ้านวังดิน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ภายในงานมีการจัดกิจกรรม “ปู๊น...ปู๊น หมู่เฮา” ประชาสัมพันธ์โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และแจกฟรีกล้าไม้สัก พยุง มะขามยักษ์ ประดู่ ตะแบก มะค่าโมง ยางนา ให้ประชาชนกลับไปปลูกที่บ้านอีกด้วย
24 กรกฎาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำจังหวัดลำปาง  โดยเป็นการประชุมขอความเห็นชอบและรับรองงานก่อสร้างสะพานรถไฟล่วงล้ำลำน้ำของกรมเจ้าท่าไม่เป็นอุปสรรคต่อแผนพัฒนาจังหวัด ผังเมืองรวม และการรักษาสภาพแวดล้อมของจังหวัดลำปาง โดยมีคลองแม่ตีบ กม.617+470 – 617+630 และแม่น้ำงาว กม.629+560 – 629+860 ที่ขออนุญาต ผลการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับโครงการพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้าง ณ ห้องประชุมเขลางค์นคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดลำปาง
24 กรกฎาคม 2566 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำจังหวัดแพร่ ครั้งที่ 3/2566 โดยนางสาวนิตยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมขอความเห็นชอบและรับรองงานก่อสร้างสะพานรถไฟล่วงล้ำลำน้ำของกรมเจ้าท่าไม่เป็นอุปสรรคต่อแผนพัฒนาจังหวัด ผังเมืองรวม และการรักษาสภาพแวดล้อมของจังหวัดแพร่ โดยการรถไฟฯ ได้ขอออกหนังสือรับรองโครงการก่อสร้างสะพานรถไฟ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สะพานรถไฟข้ามห้วยแม่พวก แม่น้ำแม่สาย แม่น้ำแม่หล่าย แม่น้ำแม่คำมี และแม่น้ำแม่ยม ผลการประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างได้ ณ ห้องประชุมไชยบูรณ์ ศาลากลางจังหวัดแพร่
21 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ และนายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามงานในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 16 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา แพร่) ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2566 ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน กรมเจ้าท่า บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมนำเสนอผลการดำเนินงาน/แผนงาน/โครงการใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การตรวจติดตามเชิงป้องกัน 2. การตรวจติดตามงานโครงการที่รองรับและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) 3. การตรวจติดตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 4 มิติ (มิติการพัฒนาทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ) และ 4. การตรวจติดตามกรณีพิเศษ ณ ห้องประชุมทรัพย์ล้อม แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 1 (กรมทางหลวง) ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) บรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมต่างชื่นชมการทำงานของโครงการฯ และพร้อมให้ความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

18 - 19 กรกฎาคม 2566 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) และนายเดชา จันทรโชตะ พนักงานเทคนิค 8 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ลงพื้นที่นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟและทางลอดของโครงการฯ ในพื้นที่อำเภอสอง อำเภอเมืองแพร่ และอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ณ ห้องประชุมของ อบต. ในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
1. องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยหม้าย  - งานสะพานรถไฟและทางลอดบางแห่งของโครงการฯ พาดผ่านพื้นที่ของ อบต.ห้วยหม้าย จำนวน  8 แห่ง ช่วง กม.582+000 ถึง กม.599+000
2. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน - งานสะพานรถไฟและทางลอดบางแห่งของโครงการฯ พาดผ่านพื้นที่ของ อบต.บ้านหนุน จำนวน  2 แห่ง ช่วง กม.290+000 ถึง กม.592+000 และ กม.599+000 ถึง กม.603+000
3. องค์การบริหารส่วนตำบลนาจักร  - งานสะพานรถไฟและทางลอดบางแห่งของโครงการฯ พาดผ่านพื้นที่ของ อบต.นาจักร จำนวน 8 แห่ง ช่วง กม.554+200 ถึง กม.557+100
4. องค์การบริหารส่วนตำบลสบสาย - งานสะพานรถไฟและทางลอดบางแห่งของโครงการฯ พาดผ่านพื้นที่ของ อบต.สบสาย จำนวน 2 แห่ง ช่วง กม.548+200 ถึง กม.549+300
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านถึงการแก้ไขรูปแบบสะพานเพื่อรองรับกับชุมชน โดยผู้นำชุมชนยกมือเห็นด้วยรูปแบบกับการก่อสร้างสะพานรถไฟและทางลอดของ
โครงการฯ ตามที่การรถไฟฯ นำเสนอ ในส่วนของ อบต.สบสาย ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องการเวนคืนประปาหมู่บ้าน และแนวทางการก่อสร้าง ซึ่งจะมีการหารือร่วมกัน แล้วชี้แจงชาวบ้านอีกครั้ง


อบต.ห้วยหม้าย
อบต.ห้วยหม้าย
อบต.บ้านหนุน
อบต.บ้านหนุน
อบต.นาจักร
อบต.สบสาย
18 กรกฎาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 ร่วมชี้แจงและซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดราคาเบื้องต้น สิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกเวนคืน พร้อมทั้งทำความตกลงทำสัญญาเพื่อรับเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกับการรถไฟฯ กับประชาชนในพื้นที่ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จำนวน 12 ราย ณ สำนักงานก่อสร้างทางรถไฟดอยหลวง จังหวัดเชียงราย
20 กรกฎาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายเช็คค่าเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้กับประชาชนในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) จำนวน 26 ราย จ่ายเช็คไปแล้ว 17 ราย อีก 9 ราย จะดำเนินการจ่ายเช็คภายในสัปดาห์หน้า ณ วัดบ้านวังดิน อำเภอสอง จังหวัดแพร่
13 กรกฎาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 ทำสัญญารับค่าทดแทนและสละสิทธิ์สำหรับผู้เสียสิทธิที่ดินทำกินในเขต ส.ป.ก. จังหวัดพะเยา ในพื้นที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จำนวน 15 ราย ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดพะเยา
14 กรกฎาคม 2566 นายพิเชษฐ แก้วบุญเสริฐ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 มอบเช็คค่าทดแทนและสละสิทธิ์สำหรับผู้เสียสิทธิที่ดินทำกินในเขต ส.ป.ก. จังหวัดพะเยา จำนวน 6 ราย (พื้นที่ตำบลแม่กา 2 ราย และตำบลห้วยแก้ว 4 ราย) รวมงบประมาณกว่า 2.9 ล้านบาท ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดพะเยา
17 กรกฎาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC กิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 ทำบันทึกข้อตกลงผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนกับการรถไฟฯ และผู้เสียสิทธิที่ดินทำกินในเขต ส.ป.ก.จังหวัดลำปาง จำนวน 62 ราย โดยแบ่งเป็นสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว จำนวน 34 ราย และสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย จำนวน 28 ราย ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภองาว จังหวัดลำปาง
6 กรกฎาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ส่งนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และครุศาสตร์โยธา มาฝึกหัดปฎิบัติงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ณ พื้นที่ก่อสร้างโครงการสัญญา 2 จังหวัดพะเยา โดยน้องๆ ได้ลงไปดูพื้นที่จริง ทั้งงานสำรวจระดับดิน งานฐานรากเสาเข็ม ทำความเข้าใจเรื่องของแบบก่อสร้าง งานอุโมงค์ ชมบรรยากาศจริงของการระเบิดอุโมงค์ด้านทิศใต้ รวมทั้งได้ไปดูงานที่ศูนย์บริการทดสอบและผลิตงานมาตรฐานวิศวกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา น้องๆ ตื่นตาตื่นใจ สนุกสนานและได้ความรู้เต็มเปี่ยม ขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดี การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และผู้รับจ้างก่อสร้างกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 ที่อำนวยความสะดวก และให้ความรู้เต็มที่ อีกหนึ่งภารกิจดีๆ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งมอบประสบการณ์นอกห้องเรียนสู่เยาวชนที่จะเป็นอนาคตของประเทศต่อไป
10 กรกฎาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ มอบเช็คค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 12 ราย ณ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดแพร่
12 กรกฎาคม 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) ได้นำเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิในที่ดินที่จะต้องเวนคืน กรณีที่ดินไม่มีหนังสือแสดงสิทธิฯ ในส่วนของจังหวัดพะเยา สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิฯ ปรากฎว่ามีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินจำนวน 34 แปลง อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 2 ต.แม่กา หมู่ที่ 4 ต.จำป่าหวาย หมู่ที่ 6 และ 8 ต.ท่าวังทอง จ.พะเยา ในการนี้นายสุบิน เทพนิล ปลัดอำเภอเมืองพะเยา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ปลัดอำเภอดอกคำใต้ ปลัดอำเภอภูกามยาว เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพะเยา ธนารักษ์พื้นที่พะเยา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพะเยา และผู้นำชุมชน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในขั้นตอนต่อไป จนสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างก่อสร้างได้โดยเร็ว  
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้