28-29 พฤศจิกายน 2567
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยคณะกรรมการสาขางานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ จัดการอบรมและศึกษาดูงานเรื่อง “อุโมงค์ในชั้นหิน” รุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ที่ผ่านการอบรม มีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการก่อสร้างอุโมงค์และส่วนประกอบอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายน นายวัชรเกียรติ สุทธิวรรณา การรถไฟแห่งประเทศไทย ดร.อภิชาติ สระมูล กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และนายจอม อรรฐาเมศร์ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 ได้ขึ้นเวทีร่วมเสวนาเกี่ยวกับ Contractual Practices and Design & Construction Practices ในงานก่อสร้างอุโมงค์ ดำเนินรายการโดย ดร.อรรถกิจ อาสาฬห์ประกิต และในวันที่ 29 พฤศจิกายน ดร.ณธีนนท์ โพธิขี นักธรณีวิทยา ฝ่ายวิศวกรรม กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 ได้บรรยายในหัวข้อ “การวางแผนงาน ออกแบบ และดำเนินงานโครงการก่อสร้างอุโมงค์ – กรณีศึกษาโครงการอุโมงค์รถไฟ” หลังจากนั้น ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมจุดก่อสร้างอุโมงค์ดอยหลวง จังหวัดเชียงราย

28 - 29 พฤศจิกายน 2567

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลภาคสนามบริเวณแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยมีนายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 3) นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC กิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที ดีซี 3 ให้การต้อนรับและบรรยายความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการฯ

กรมการขนส่งทางราง ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานระบบระบายน้ำโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงต่อภัยระบบราง วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม ศึกษา และหาสาเหตุ ตลอดจนสถิติความเสี่ยงต่อภัยระบบราง รวมถึงภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว คันทางทรุด เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อลดความเสี่ยงต่อภัยระบบราง และนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานระบบระบายน้ำโครงสร้างพื้นฐานระบบราง โดยครั้งนี้ ได้มาสำรวจข้อมูลภาคสนามบริเวณแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พร้อมลงพื้นที่จุดก่อสร้างอุโมงค์รถไฟดอยหลวง จังหวัดเชียงราย อุโมงค์รถไฟงาว จังหวัดลำปาง สะพานรูปโค้ง BEBO จังหวัดแพร่
Lorem ipsum dolor sit amet, pri et feugiat consulatu. Eu per ceteros platonem. Ea dictas legendos ius. At adhuc solum has. Nec at harum euripidis, habeo elitr patrioque ne mel. Mei probo oportere posidonium in, has ei everti volutpat consequat.
28 พฤศจิกายน 2567
ภาควิชาวิศวกรรมธรณีเทคนิคและทรัพยากรปฐพี สำนักวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology, AIT) จัดให้มีการดูงานภาคสนามของคณะอาจารย์ นักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ จำนวน 28 คน ในปีนี้ได้มาดูงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้เชิงปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางวิศวกรรมธรณีเทคนิคและความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยได้ลงพื้นที่บริเวณก่อสร้างอุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา
25 พฤศจิกายน 2567 
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดโครงการศึกษาดูงานวิชาชีพวิศวกรโยธา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้นิสิตชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 ที่ใกล้สำเร็จการศึกษา อีกทั้งยังกระตุ้นให้นิสิตเกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และก่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้นิสิตทันเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น ได้ขอเข้าดูงานของโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยได้ลงพื้นที่ชมการผลิตคานสะพานคอนกรีตอัดแรง (I-Girder) และการผลิตหมอนรางรถไฟคอนกรีตอัดแรง (Railroad Sleeper) ณ โรงหล่อหมอนรางรถไฟและคานสะพานยกระดับ จังหวัดเชียงราย
25 พฤศจิกายน 2567
นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) พร้อมด้วยทีมงาน ลงพื้นที่เพื่อประกาศเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ก่อนการเวนคืนในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากผู้ถูกเวนคืนบางแปลงไม่มาตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ บางแปลงเจ้าของกรรมสิทธิ์เสียชีวิตแต่ยังไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ และบางแปลงติดขัดกฎหมายด้านอื่น ทำให้ไม่สามารถเจรจาตกลงทำสัญญาซื้อขายและจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนได้ ในการนี้ นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอป่าแดด ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรป่าแดด และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.ป่าแดด เข้าร่วมสังเกตการณ์และดูแลความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการฝากเงินค่าทดแทนฯ ไว้กับธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว หากเจ้าของที่ดินไม่เข้ามาดำเนินการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือขนย้ายทรัพย์สินภายใน 90 วัน ทาง รฟท. จะเข้าดำเนินการโดยเจ้าของที่ดินจะต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างก่อสร้างได้ทันตามกำหนดการส่งมอบพื้นที่ต่อไป เพื่อความสำเร็จของโครงการ เพื่อประโยชน์ชาวล้านนา และไปเป็นตามข้อกฎหมาย ตามกระบวนการเวนคืนฯ
19 พฤศจิกายน 2567 
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass Bridge) ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลพระหลวง โดยนายสุรชัย ภิญโญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระหลวง เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มติที่ประชุม ประชาชนในพื้นที่เห็นชอบ แต่เนื่องจากการก่อสร้างใช้เวลานานถึง 15 เดือน จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องดูแลระบบชลประทานและฝุ่นถนน เพื่อไม่ให้เกิดความเดือนร้อนกับประชาชนในพื้นที่ด้วย
15 พฤศจิกายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงรูปแบบการรื้อย้ายและก่อสร้างใหม่ของถนนที่กีดขวางการก่อสร้างสะพานรถไฟ บริเวณ กม.546+100 ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลสูงเม่น โดยนายนายมานพ เลิศศิลากุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสูงเม่น เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
12 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพะเยา ร่วมกับ ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจังหวัดพะเยา และภาคีเครือข่าย ได้จัดงานวันครบรอบ 39 ปี “วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” ภายใต้ธีมงาน “เครือข่าย จป. พะเยา เข้มแข็ง ร่วมใจสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” เป็นการขับเคลื่อนความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ภายใต้ธีมงาน Safety Culture Together เพื่อให้สถานศึกษามีความปลอดภัย และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงานให้แก่น้องๆ นักเรียน เป็นพื้นฐานในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีนายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในพิธีเปิด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียนครู อาจารย์ สมาชิกชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจังหวัดพะเยา และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้ร่วมสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การเรียน และมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนระดับอนุบาล–มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 150 คน ณ โรงเรียนบ้านบ้านร่องห้า หมู่ที่1 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
10 พฤศจิกายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 สนับสนุนน้ำดื่มในงานกีฬาป่าแดดสัมพันธ์ 2567 โดยนายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอป่าแดด เป็นผู้รับมอบ ณ ที่ว่าการอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ก่อสร้าง “ช่วยล้านนา...ด้วยล้านใจ”
8 พฤศจิกายน 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการจ่ายเช็คค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนในพื้นที่สาธารณประโยชน์ (นสล.) ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่ตีบหลวง และศาลเจ้าพ่อเจินเมือง วัดดอกคำใต้ ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง รวมทั้งเช็คของชาวบ้านที่ประกาศเวนคืนเพิ่มเติมของแม่ตีบ (พื้นที่ คทช.) อีก 5 ราย ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบ
7 พฤศจิกายน 2567 

การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมไอทีดี-เนาวรัตน์ (สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว) ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับนายดำรงเกียรติ กิตติประภัสร์ นายกเทศบาลตำบลเด่นชัย ผู้อำนวยการกองช่าง และสารวัตรจราจร สภ.เด่นชัย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปิดเบี่ยงจราจร บริเวณ กม.534+291 ถนนสาย พร.ถ.4-0005 บ้านแพะโรงสูบ ตำบลเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เพื่อก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass Bridge) เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ของเทศบาล และการรถไฟฯ โดยตรวจสอบเรื่องความสว่างถนนทางเบี่ยง ไฟวับวาบเตือนอันตรายก่อนถึงทางเบี่ยง ติดสัญลักษณ์ลูกศรชี้เบี่ยงให้เห็นชัดเจน และจัดพนักงานคอยเฝ้าประจำจุดเพื่อดูแลและอำนวยการจราจร

 ระยะเวลาปิดเบี่ยงตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 – 7 พฤษภาคม 2568 (ระยะเวลา 18 เดือน)  
6 พฤศจิกายน 2567
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 (สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ) ประชุมร่วมกับแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 กรมทางหลวง เพื่อชี้แจงแผนการดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรบนถนนทางหลวงหมายเลข 1173 ช่วง กม. 785+900 บริเวณป้ายหยุดรถไฟทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางแยก (Overpass Bridge 31) เตรียมความพร้อมสำหรับการปิดเบี่ยงจราจรในวันพรุ่งนี้

ระยะเวลาปิดเบี่ยงตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 – 6 พฤศจิกายน 2569 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินงานดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และอาจมีเสียงดังรบกวนพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้