25 พฤษภาคม 2566 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ได้ร่วมประชุมกับนายอำเภอสูงเม่น นายอำเภอเด่นชัย นายอำเภอเมืองแพร่ นายอำเภอสอง ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่สอบสวนให้ทราบถึงผู้มีสิทธิในที่ดินที่จะต้องเวนคืนกรณีที่ดินไม่มีหนังสือแสดงสิทธิ ในพื้นที่บางส่วนของอำเภอเด่นชัย อำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยที่ประชุมมีมติรับรองผู้ถือกรรมสิทธิแปลงที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ (ทค.) ในพื้นที่เด่นชัย สูงเม่น และเมืองแพร่ จำนวน 18 แปลง พื้นที่สอง จำนวน 13 แปลง หลังจากนี้ การรถไฟฯ จะได้ประกาศเรียกให้ประชาชนผู้ถือกรรมสิทธิ์แปลงที่ดิน ทค. ดังกล่าวมาทำสัญญารับค่าชดเชยฯ เพื่อมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างฯ เข้าดำเนินการต่อไป
29 พฤษภาคม 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 เข้าพบนายผล ขันคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านสันป่าเหียง ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เพื่อนำเสนอรูปแบบ “ป้ายหยุดรถไฟบ้านสันป่าเหียง” โดยมีแนวคิดให้เป็นสถานีแห่งการแบ่งปัน (The Station of Sharing) พัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบเพื่อส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชุมชน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของ สืบสานภูมิปัญญา การถ่ายทอดความรู้ ปราชญ์ท้องถิ่น สร้างพื้นที่สวนเกษตรแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยว สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตแบบล้านนา ทั้งนี้ การออกแบบจะได้นำรูปแบบของประตูชัย ซึ่งเป็นประตูด้านในของไร่เชิญตะวันมาประยุกต์ออกแบบอาคารพักคอยผู้โดยสาร ผสมผสานอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และยังคงไว้ซึ่งความเป็น “บ้านสันป่าเหียง” โดยการรถไฟฯ จะนำวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้างมาจากการเวนคืน เพื่อประหยัดงบประมาณและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
19 พฤษภาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมการก่อสร้างของโครงการฯ ณ พื้นที่ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น และตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โดยผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
12 พฤษภาคม 2566 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) มอบเช็คค่าทดแทนและสละสิทธิ์สำหรับผู้เสียสิทธิที่ดินทำกินในเขต ส.ป.ก. จำนวน 21 ราย และทำสัญญาฯ กับรายใหม่ จำนวน 12 ราย ณ สำนักงานปฎิรูปที่ดินจังหวัดแพร่
13 พฤษภาคม 2566 นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างฯ สัญญาที่ 2 ตำบลแม่กา จังหวัดพะเยา โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการในพื้นที่เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน และส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ด้วยโครงการแรงงานพันธุ์ดีตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเน้นย้ำ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการคุ้มครองแรงงาน 2.ด้านแรงงานสัมพันธ์ 3.ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ 4.ด้านสวัสดิการแรงงาน พร้อมแจกเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้แรงงานใช้เวลาว่างจากการทำงานให้เกิดประโยชน์
9 - 10 พฤษภาคม 2566 กรมที่ดินและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการประชุมร่วมกัน ปรึกษาแผนการรังวัดแบ่งเวนคืนเพื่อการดำเนินงานในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในท้องที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา และเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ในการดำเนินการก่อสร้างส่งให้ผู้รับจ้างก่อสร้าง โดยกรมที่ดินแจ้งให้สำนักงานที่ดินพื้นที่รับผิดชอบในเขตโครงการ พิจารณาสนับสนุนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรังวัดเพิ่มเติม ในการนี้ นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมหารือกับนายสุทธิพงษ์ อินทจักร์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย และนางสาวมาลิน ผลบุตร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพะเยา เพื่อประสานในรายละเอียดและวางแผนจัดเจ้าหน้าที่รังวัดปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานก่อสร้างของการรถไฟฯ ต่อไป
 
1 พฤษภาคม 2566 นายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 3) และนายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) ให้การต้อนรับ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในโอกาสเยี่ยมขมพื้นที่ก่อสร้างบริเวณอุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก อุโมงค์แม่กาเป็นหนึ่งในสี่อุโมงค์ที่เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว ความยาวอุโมงค์ 2,700 เมตร (รวมสองฝั่ง 5,400 เมตร) ด้านทิศเหนือ อ.เมือง จ.พะเยา ได้เริ่มงานเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปัจจุบันขุดอุโมงค์ฝั่งลงใต้ได้ 42 เมตร และฝั่งขึ้นเหนือได้ 44 เมตร โดยมีอัตราการขุดเจาะวันละ 1 เมตร คาดว่าใช้เวลาขุดเจาะและดาดคอนกรีตประมาณ 50 เดือน ส่วนด้านทิศใต้ อ.งาว จ.ลำปาง ยังระเบิดหินไม่แล้วเสร็จ
10 พฤษภาคม 2566 กลุ่มบริษัท CSDCC ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดลำปาง นำโดยนายอัศวิน น้อยนาเมือง นิติกรชำนาญการพิเศษ เพื่อติดตามงานสำรวจแปลงที่ดิน ส.ป.ก. ที่เวนคืนของ ส.ป.ก. อำเภองาว จังหวัดลำปาง เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศเรียกมาทำสัญญาฯ ต่อไป
2 พฤษภาคม 2566 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2) เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อม
เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่และเสริมสร้างโอกาสในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ในการรองรับและเชื่อมโยงเส้นทางระบบขนส่งทางรางสายใหม่ “รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ณ ห้องเชียงรายแกรนด์บอลรูม โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น ตำบลท่าสาย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ผู้ร่วมงานประกอบด้วยส่วนราชการ/หน่วยงานรัฐ กลุ่มอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ การบรรยายโดย ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวที
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานทางหลวงที่ 2 (แพร่) การท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย การท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและเชียงของ
และสถานีขนส่งสินค้า 4 (เชียงของ) และนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย บรรยายความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานได้ชื่นชม ให้กำลังใจ ให้ความสนับสนุนให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว รวมทั้งพร้อมให้ความร่วมมือบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่อไปในอนาคต หลังจากนั้น ได้ไปเยี่ยมชมจุดก่อสร้างสถานีรถไฟเชียงราย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย
 
 
25 พฤษภาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เป็นการทำสัญญาครั้งแรก ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านที่มาทำสัญญาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ประกอบด้วยตำบลบ้านหนุน 2 ราย ตำบลบ้านกลาง 24 ราย ณ วัดวังดิน อำเภอสอง จังหวัดแพร่
1 มิถุนายน 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เชิญเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ทำบันทึกข้อตกลงผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนกับการรถไฟฯ ระหว่างวันที่ 1 - 3 มิถุนายน 2566 ณ เทศบาลตําบลบ้านเหล่า อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย โดยคาดว่าจะมีผู้ครอบครองที่ดินฯ มาทำสัญญาฯ ไม่ต่ำกว่า 200 ราย
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้