image
26 มิถุนายน 2566 นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง รองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานในการประชุมติดตามงานกรณีการรถไฟฯ ขอใช้พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน สำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และปฏิรูปที่ดิน 4 จังหวัด (แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย) เพื่อให้การดำเนินการในการขออนุญาตใช้พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งได้แจ้งผลการประชุมต่อการรถไฟฯ นายอนันต์ เจนงามกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) กลุ่มที่ปรึกษา CSDCC และผู้รับจ้างก่อสร้าง ว่าจากจำนวนแปลงที่ดิน ส.ป.ก. ในจังหวัดเชียงราย จำนวนประมาณ 600 ราย ทาง ส.ป.ก. จะรับรองผลการรังวัดที่ดินในแปลงที่ข้อมูลถูกต้องทั้งรายชื่อเกษตรกรตรงกับผู้ได้รับอนุญาต และรูปแปลงแผนที่สอดคล้องกัน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจ่ายค่าทดแทนฯ ต่อไป ในส่วนของแปลงที่ยังมีข้อมูลไม่สมบูรณ์ ทาง ส.ป.ก. จะเร่งรัดลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจรังวัดใหม่ และทยอยนำเข้าสู่กระบวนการในลำดับต่อไป รวมทั้งจะดำเนินการบูรณาการความร่วมมือกับการรถไฟฯ เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างก่อสร้างตามแผนการดำเนินงานโครงการที่การรถไฟฯ ได้วางไว้อย่างเร็วที่สุด
image
28 มิถุนายน 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ นำคณะผู้บริหารของจังหวัดแพร่ ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ (นางสาวนิติยา พงษ์พานิช) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดแพร่ สำนักงานทางหลวงที่ 2 (แพร่) แขวงทางหลวงแพร่ แขวงทางหลวงชนบทแพร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยมแพร่ หอการค้าจังหวัดแพร่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างสถานีแพร่ อำเภอเมืองแพร่ และสถานีสอง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเข้าสู่สถานีรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ และระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงศักยภาพ ความพร้อม และความต้องการในระดับพื้นที่ หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างสถานีสูงเม่น และสถานีเด่นชัย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
image
29 มิถุนายน 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 ให้การต้อนรับคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดยพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกรรมการ ในโอกาสที่คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างบริเวณอุโมงค์แม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และพะเยา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและประชาชนในระดับอำเภอและตำบล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่ยังประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมกันนี้ ประธานกรรมการฯ ได้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทีมงาน ขอให้การดำเนินงานสำเร็จไปได้ด้วยดี
image
22 มิถุนายน 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยมฝั่งตะวันตก จำนวน 16 ราย 19 แปลง โดยก่อนหน้านี้ทำสัญญาฯ ไปแล้ว 27 ราย 31 แปลง รวมทั้งหมด 43 ราย 50 แปลง จากทั้งหมด 66 แปลง ของจังหวัดแพร่ ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านที่มาทำสัญญาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
image
23 มิถุนายน 2566 นายช่างทีมสายเหนือ ประกอบด้วยนายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 3) นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) และนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) พร้อมด้วยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 เข้าพบนายมณู วงศ์สุนทร ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย เพื่อประชุมหารือความคืบหน้าและเร่งรัดการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ส.ป.ก. เชียงราย ให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างก่อสร้างตามแผนการดำเนินงานโครงการที่การรถไฟฯ ได้วางไว้
image
24 มิถุนายน 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) พร้อมด้วยนายวรกานต์ สิงหเดช สถาปนิก (สัญญาที่ 2) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 2 ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพื่อนำเสนอรูปแบบ “ป้ายหยุดรถไฟบ้านสันป่าเหียง” และรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่บ้านผล ขันคำ และประชาชนในพื้นที่หมู่ 13 บ้านสันป่าเหียง การออกแบบ “ป้ายหยุดรถไฟบ้านสันป่าเหียง” เน้นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี “สถานีแห่งการแบ่งปัน:Share Station” เน้นวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลัก คือ 1. ส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น 2. สืบสานภูมิปัญญา ถ่ายทอดความรู้ของปราชญ์ท้องถิ่น และ 3. ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เผยแพร่ความเป็น “บ้านสันป่าเหียง” ให้เป็นที่รู้จัก รูปแบบของสถานีแห่งนี้ มีแนวคิดในการนำรูปแบบของประตูชัย ซึ่งเป็นประตูด้านในของไร่เชิญตะวันมาประยุกต์ออกแบบเป็นอาคารพักคอยผู้โดยสาร จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าชาวบ้านสันป่าเหียงยินดีต้อนรับรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ หลังจากที่เฝ้ารอคอยมานานหลายสิบปี…และนี่เป็นอีกหนึ่งในการสร้างคุณค่าแห่งสายทาง
21 มิถุนายน 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) เป็นผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (Special Economic Zones : SEZs) : Chance & Challenge ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนเศรษฐกิจข้ามแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้แทนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ผู้แทนส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน จำนวนกว่า 300 คน โดยได้รับเกียรติจากนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานเปิดงานสัมมนา ภายในงานมีการจัดนิทรรศการโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ การบรรยายและงานเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจจากวิทยากรหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมศุลกากร และการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมงาน ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งระหว่างประเทศในภูมิภาค ผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จคือ การลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคมของประชาชน ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายต่อไป
image
image
image
image
image
image
.
image
12 มิถุนายน 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงของการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ พบว่างานสะพานรถไฟและทางลอดบางแห่งในโครงการฯ ได้ก่อสร้างพาดผ่านพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จำนวน 9 แห่ง ซึ่งตัดกับงานสะพานและทางลอดในโครงการฯ จำนวน 9 แห่ง ครอบคลุมช่วงก่อสร้าง กม.541+200 ถึง กม.544+800 จึงได้มีการประชุมหารือรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟ และทางลอดดังกล่าว ในการนี้ นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) พร้อมกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ได้นำเสนอรายละเอียด โดยที่ประชุมนำโดยนายสำราญ กองโกย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำชำ มีมติรับหลักการ เพื่อให้การรถไฟฯ ได้ดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
image
19 มิถุนายน 2566 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟ และทางลอดของโครงการในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งน้าว จังหวัดแพร่ โดยอธิบายถึงงานก่อสร้างสะพานและแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านถึงการแก้ไขรูปแบบสะพานเพื่อรองรับกับชุมชน ซึ่งผู้นำชุมชนและชาวบ้านส่วนใหญ่ มีมิติเห็นชอบกับการแก้ไขรูปแบบสะพานในครั้งนี้
image
1 - 2 มิถุนายน 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC ได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมของผู้รับจ้างก่อสร้างทุกสัญญา ซึ่งได้มีการตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน เริ่มจากสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว (กิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์) สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย (กิจการร่วมค้าซีเอสเคที-ดีซี 2) และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ (กิจการร่วมค้าซีเอสเคที-ดีซี 3) โดยตรวจสอบพื้นที่สำนักงาน พื้นที่ก่อสร้าง ที่พักคนงาน คลังเก็บวัตถุระเบิด รวมทั้งบริเวณอุโมงค์แม่กา และอุโมงค์ดอยหลวง ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ทุก 6 เดือน
image
6 มิถุนายน 2566 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ นำคณะผู้บริหารของจังหวัดแพร่ ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ (นางสาวนิติยา พงษ์พานิช) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดแพร่ สำนักงานทางหลวงที่ 2 (แพร่) แขวงทางหลวงแพร่ แขวงทางหลวงชนบทแพร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยมแพร่ หอการค้าจังหวัดแพร่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างสถานีสูงเม่น อำเภอสูงเม่น และสถานีเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเข้าสู่สถานีรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ และระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงศักยภาพ ความพร้อม และความต้องการในระดับพื้นที่
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้